Knowledge Center
เคล็ดวิธีปัดเบ็ดไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ “มิจฉาชีพ”
หลายคนน่าจะเคยได้ยินข่าวกลลวงจากมิจฉาชีพ ที่นับวันแลดูจะสรรหาวิธีพิสดารให้เราแปลกใจกันอยู่เรื่อย ๆ ยิ่งในยุคดิจิทัลที่แม้มันจะเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกแก่เรา แต่มันก็เป็นอีกหนึ่งอาวุธกลลวงชั้นดีของเหล่ามิจฉาชีพเช่นกัน
‘Phishing’ หรือ กลลวงแบบเหยื่อล่อที่มาในรูปแบบข้อความ อีเมล เว็บปลอม อื่น ๆ ถือเป็นหนึ่งกลลวงดิจิทัลยอดนิยม ซึ่ง AIS เองก็พบปัญหาว่า มีการหลอกลูกค้าที่ใช้ระบบรายเดือนด้วยการส่งลิงก์ลงทะเบียนแล้วหลอกว่าจะได้เงินรางวัล โดยให้ลูกค้าเข้าใช้แอพ myAIS และบอกรหัส OTP แก่มิจฉาชีพ เพื่อที่จะได้เข้าบัญชีของลูกค้าและเอาเงินไปเติมให้กับตัวเอง
เหล่ามิจฉาชีพจะใช้หลากหลายวิธีในการหาข้อมูลของเหยื่อ ซึ่งส่วนมากก็มักจะเก็บข้อมูลพวกเราผ่านทางอินเทอร์เน็ตหรือโซเชียลมีเดียต่าง ๆ โดยมิจฉาชีพมักจะเลียนแบบวิธีการติดต่อของเจ้าหน้าที่หรือระบบต่าง ๆ ให้แนบเนียนที่สุด วันนี้เราเลยมี 5 เคล็ดวิธีป้องกันตัวเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อจากมิจฉาชีพให้นำไปปรับใช้กันนั่นเอง
1. ทบทวนเรื่องราวความเป็นไปได้ / ตั้งข้อสงสัยกับรางวัลที่ไม่มีที่มา
ไม่ว่าจะเป็นข้อความ หรือการได้รับโทรศัพท์จากบุคคลที่ไม่รู้จักมายื่นข้อเสนอต่าง ๆ เราควรทบทวนเรื่องราวและโอกาสความเป็นไปได้ว่ามีมากน้อยแค่ไหน ลองพิจารณาอย่างถี่ถ้วน และหาตรรกะเหตุผลต่าง ๆ ให้ได้มากที่สุด เพื่อช่วยลดช่องว่างให้เราไม่ติดกับได้มากขึ้น
2. ไม่ให้ข้อมูลส่วนตัวหรือข้อมูลทางการเงินแก่ผู้อื่น
แม้ผู้ติดต่อจะอ้างตัวมาจากเครือข่ายเอไอเอส หรือใด ๆ ก็ตาม ปกติแล้วไม่ว่าจะเครือข่ายหรือสถาบันการเงินไหน ๆ จะไม่มีนโยบายสอบถามข้อมูลส่วนตัวผ่านทางโทรศัพท์ ซึ่งกลยุทธ์การหลอกถาม OTP ก็เป็นอีกหนึ่งกลลวงแนบเนียน ที่บางทีเราอาจลืมไปว่านี่ก็เป็นข้อมูลส่วนตัวเฉพาะของเรา
3. สังเกตลิงก์ที่แนบมากับข้อความเสมอ
สังเกตว่าลิงก์ต่าง ๆ ที่ให้กรอกข้อมูลนั้น ๆ เป็นเว็บไซต์ของทางเอไอเอสจริงหรือไม่ ซึ่งมิจฉาชีพอาจใช้ชื่อที่มีความเหมือนให้ได้มากที่สุดกับต้นฉบับ ฉะนั้นพยายามเช็กให้ละเอียดถี่ถ้วน และเช็กหลาย ๆ รอบก่อน จะเป็นการดีที่สุด
4. ถ้าให้ชัวร์ควรติดต่อกับ Call Center เพื่อเช็กดู
เวลาที่มีการส่งข้อความหรือการโทรมายื่นข้อเสนอที่ไม่มีที่ไป หากอยากเช็กเพื่อความชัวร์ เราควรโทรไปสอบถามข้อเท็จจริงกับฝ่ายบริการลูกค้า หรือ Call Center จะเป็นการดีที่สุด ซึ่ง AIS Call Center 1175 ก็สามารถโทรเพื่อสอบถามได้ตลอด 24 ชั่วโมง
5. อย่าลืมที่จะแชร์ความรู้ต่อ
ไม่ว่าจะครอบครัวหรือคนรักที่เราไว้ใจ อาจจะรู้เรื่องข้อมูลส่วนตัวต่าง ๆ ของเรา และอาจหลงกลลวงที่เห็นว่าปลอดภัยจนจัดการเรื่องต่าง ๆ แทนเรา ซึ่งกว่าเราจะรู้ตัวก็อาจสายไปเสียแล้ว การแชร์ความรู้แก่คนรอบตัว นอกจากจะทำให้พวกเขาปลอดภัยแล้วก็ยังเป็นการลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับเราด้วย
ส่วนสำหรับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อไปแล้วนั้น ขั้นแรกที่เราควรทำนั่นคือการตั้งสติ หลังจากนั้นก็พยายามรวบรวมข้อมูล หลักฐาน และแจ้งเจ้าหน้าที่ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องโดยไวที่สุด
ทั้งนี้เราก็เข้าใจนะว่า ในช่วงยุควิกฤตแบบนี้ มันก็อาจทำให้จิตใจเราเปราะบางลงจนอาจเผลอตัวไปกับรางวัลล่อใจจากผู้ไม่หวังดี ทางเราเองก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า วิธีที่ให้ไปจะช่วยให้เราป้องกันกลลวงต่าง ๆ ได้ไม่มากก็น้อย
ข้อมูล การป้องกันมิจฉาชีพอื่น ๆ
ทริคสังเกตลิงก์มิจฉาชีพ คลิก
วิธีรับมือเบอร์โทรมิจฉาชีพ คลิก